ส.ป.ก.ภูเก็ตเปิดรับคำร้องขอใช้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ตามประกาศใหม่

ภูเก็ต - ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ผู้ที่มีความประสงค์จะยื่นคำขอใช้พื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาการเกษตรสามารถเข้ามาดำเนินการได้แล้ว ซึ่งรวมถึงที่ดินส.ป.ก.ในพื้นที่ตำบลป่าตอง โดยวัตถุประสงค์ใน

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2563, เวลา 09:00 น.

ส.ป.ก.เปิดให้ยื่นคำร้องขอใช้พื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาด้านการเกษตร รวมถึงที่ดินส.ป.ก.ในพื้นที่ตำบลป่าตอง ภาพ: วรพงศ์ ยูระหมาน

ส.ป.ก.เปิดให้ยื่นคำร้องขอใช้พื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาด้านการเกษตร รวมถึงที่ดินส.ป.ก.ในพื้นที่ตำบลป่าตอง ภาพ: วรพงศ์ ยูระหมาน

การขอใช้พื้นที่จะต้องเข้าเกณฑ์ของการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในส่วนของรีสอร์ทหรือกิจการอื่น ๆ ยังต้องรอประกาศจากส่วนกลางอีกครั้ง และยืนยันว่าการแก้กฎหมายที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. โปร่งใสตรวจสอบได้ ภายหลังจากการออกประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวม 2 ฉบับ กรณีรายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 28 ต.ค. 63) และกรณีการจัดที่ดินชุมชนในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ประกาศ ณ วันที่ 30 ต.ค. 63)

นายอำมริต คงแก้ว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ The Phuket News สัปดาห์นี้ว่า “ผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ที่ดินที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเกษตรประกอบด้วย 12 รายการ อาทิ กิจการปั๊มน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม กิจการที่อยู่อาศัย ประเภทที่พัก หอพัก ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ซึ่งทุกกิจการต้องเป็นกิจการที่ให้ความสะดวกต่อเกษตรกร สามารถเข้ามายื่นคำขอที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต (ส.ป.ก.ภูเก็ต) ได้ซึ่งที่ดินที่จะใช้ประโยชน์จะต้องอยู่ในพื้นที่กำหนดให้เป็นเขตชุมชนภายใต้ประกาศล่าสุด โดยการพิจารณาขึ้นอยู่กับหน่วยงานในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้นั่งโต๊ะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวไปแล้ว โดยยืนยันว่า “เกษตรกรต้องมาก่อน” มีกำหนดขอบเขตในการอนุมัติอย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ให้กฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่สภาพภูมิสังคมในแต่ละท้องที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่สำคัญประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ว่าส.ป.ก. ดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี พร้อมกับเน้นย้ำ “ไม่เอื้อนายทุน”

“กรอบปฏิบัติยังต้องใช้ดุลพินิจของคปก. แต่ต้องว่ากันตามกฎหมาย เข้าเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ก็สามารถทำได้ เช่น การทำโฮมสเตย์ เล็กๆ ที่ปลูกผักในพื้นที่ ทำเกษตรเพื่อป้อนโฮมสเตย์นั้น ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะเข้าเกณฑ์ทำกิจการเกี่ยวเนื่องการเกษตร” นายวิณะโรจน์ กล่าว

ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า ในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีที่ดินส.ป.ก.ประมาณ 13,000 ไร่ในจำนวนนี้มีผู้ครอบครองตามกฎหมายแล้ว 8,206 ไร่ ยังเหลือพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีผู้ครอบครอง 4,864 ไร่ และที่ดินที่ยังไม่มีผู้ครอบครองทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของส.ป.ก.

“ในส่วนของกิจการอื่น ๆ เช่นรีสอร์ท ต้องรอแก้กฎหมายก่อน ส่วนข้อปฏิบัติตามประกาศฉบับล่าสุด ทางส.ป.ก.จะมีหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการออกมา เพื่อใช้เป็นแนวทางและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”

เมื่อต้นเดือนพ.ย.เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ส.ป.ก.ภูเก็ต และรับฟังปัญหาพร้อมให้คำแนะนำ แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้รายงานปัญหาในพื้นที่ไปยังส่วนกลางแล้ว ว่าพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตไม่ได้เหมาะกับการทำเกษตรเหมือนจังหวัดอื่น ๆ เพราะลักษณะทางกายภาพของภูเก็ตมีความเป็นหินและเป็นดินแข็ง ส่วนปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของภูเก็ตก็คือมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก” นายอำมริต กล่าวพร้อมกับคาดหวังว่าส่วนกลางจะพิจารณาให้มีข้อปรับปรุงในการใช้พื้นที่ส.ป.ก.ได้มากกว่าการใช้เพื่อการเกษตร

“มีการเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาที่ดินสำหรับสิ่งก่อสร้างที่บนพื้นที่ส.ป.ก. จากการทิ้งทำลายมาเป็นการเช่า เเละเอาเงินส่วนนั้นมาพัฒนาชุมชน โดยสิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนปัญหาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของส่วนกลางต่อไป”

ทางด้านนายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า แนวความคิดในการเปิดให้นำสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกไว้ในที่ดินส.ป.ก.อยู่แล้วมาพัฒนาให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชนถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายที่ชัดเจน ไม่ขัดแย้งทับซ้อน และต้องไม่รบกวนหรือทำลายพื้นที่ป่า

“การเปิดกว้างสำหรับการลงทุนในพื้นที่ส.ป.ก. เข้าใจว่ายังไม่มีความชัดเจน ส่วนตัวแล้วคิดว่าต้องดูบริบทของพื้นที่เป็นหลัก จำเป็นต้องอาศัยและมีการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อจะได้ออกกฎหมายไปในทางเดียวกัน ปัญหาของกฎหมายเราตอนนี้คือมันขัดแย้งกันเอง และมีความทับซ้อน ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายปฏิบัติงานได้ยาก”

“ผมเห็นด้วยหากสามารถพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่ถ้าอยู่ในสภาพป่าสมบูรณ์แล้วเราไปแก้ไขมันก็ดูไม่เหมาะสม เพราะถ้าสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องตัดไม้ หรือทำลายสภาพป่าให้เสียหาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และน่าส่งเสริมให้มีกฎหมายที่สามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องรักษาแหล่งต้นน้ำ สิ่งปลูกสร้างจะต้องดูระดับความลาดชันเป็นหลัก ถ้าเป็นพื้นที่ป่าก็ไม่อยากให้ไปยุ่งกับมัน อยากให้อนุรักษ์ป่าเอาไว้มากกว่า” นายพัทธนันท์ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่