รองผู้การเตือน ‘อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ 2019’ แนะตรวจสอบให้ดีก่อน

ภูเก็ต – รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ฝากเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อกลโกงของเหล่าบรรดามิจฉาชีพ เพราะในปัจจุบันพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้คิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ออกมาอย่างมากมาย หรือแม้แต่วิธีคลาสสิกดั้งเดิมก็ยังมีการนำมาใช้เพื่อหลอกเหยื่อ โดยอาศัยการเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในคราบ ‘โจรไซเบอร์’ หรือเข้าถึงตัวบุคคลพร้อมข้อเสนอสุดคุ้มต่าง ๆ มากมาย หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อกรุณา “อย่าหลงเชื่อ และตรวจสอบให้ดีก่อน”

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพุธ ที่ 24 กรกฎาคม 2562, เวลา 16:52 น.

รวบผู้ต้องหาหลอกคนแก่ร่วมลงทุน 10 ล้านช่วยเกษตรกร ภาพ กองปราบฯ

รวบผู้ต้องหาหลอกคนแก่ร่วมลงทุน 10 ล้านช่วยเกษตรกร ภาพ กองปราบฯ

สืบเนื่องจากกรณีวานนี้ (23 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ร่วมกับ กก.สส.ภ.จว.ภูเก็ต และสภ.เชิงทะเล เข้าจับกุมตัว นางหรรษา หรือสาว พันธ์จู อายุ 46 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 2 ก.ค.62 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงและฟอกเงิน”

ซึ่งในเรื่องนี้ พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. เปิดเผยว่าเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีผู้เสียหายซึ่งเป็นคนสูงอายุ 3 รายเข้าแจ้งความที่กองปราบฯ ว่าถูกผู้ต้องหารายนี้ใช้อุบายหลอกให้นำเงินไปลงทุนให้เกษตรกร อ.สิงหนคร จ.สงขลา นำไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยนางหรรษาอ้างว่าเมื่อเกษตรกรชำระหนี้แล้ว ก็จะสามารถไปกู้เงินจากธกส.ได้ใหม่ ในยอดเงินที่สูงขึ้น จากนั้นก็จะนำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้คืนให้พร้อมกับดอกเบี้ย ซึ่งทางกลุ่มผู้เสียหายเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทน และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน จึงมอบเงินให้ผู้ต้องหานำไปลงทุนรวมกันเกือบ 10 ล้านบาท

ต่อมาผู้ต้องหาก็ได้คืนเงินให้มาบางส่วน เพื่อให้เหยื่อเกิดความเชื่อมั่นว่ามีการให้ดอกเบี้ยจริง ก่อนจะหายตัวไปในภายหลัง ผู้เสียหายก็ทราบว่าถูกหลอก จึงเข้าแจ้งข้อความที่กองปราบฯให้ดำเนินคดี ภายหลังการจับกุมผู้ต้องหาให้การ “รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา” เจ้าหน้าที่ชุดรับมอบตัว/จับกุมจึงเชิญตัวมาทำบันทึกที่ศูนย์ประสานงาน กก.6 บก.ป. จว.สงขลา และนำตัวส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ค.) พ.ต.อ.เสริมพันธุ์ ศิริคง รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ได้ฝากเน้นย้ำพี่น้องประชาชนโปรดอย่าหลงเชื่อเหล่ามิจฉาชีพที่มักจะแฝงตัวมาในแบบนักลงทุน หรือหลอกเหยื่อผ่านทางโลกออนไลน์ โดยอาศัยการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายมากขึ้น เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อได้จากการใส่ข้อมูลลงไปในมือถือของคุณเอง

กู้เงินออนไลน์

รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต อธิบายว่า ปัจจุบันนี้พบว่ามีการเปิดเว็บไซต์ในรูปแบบของการให้กู้ยืมเงินแบบง่าย ๆ โดยทางเว็บไซต์จะถามว่าเหยื่อมีรายได้ต่อเดือนเท่าไร ซึ่งจำนวนเงินที่สามารถกู้ได้นั้นจะแปรไปตามเงินรายได้ของเหยื่อ ยกตัวอย่างเช่น คำนวณแล้วสามารถกู้เงินได้จำนวนเต็ม 7 หมื่นบาท เหยื่อจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยก่อน 10% หมายความว่าเหยื่อต้องโอนเงินจำนวน 7 พันบาทให้กับทางเว็บไซต์ รวมค่าดำเนินการต่าง ๆ ยกตัวอย่างที่ราคา 3 พัน เพราะฉะนั้นเหยื่อจะต้องโอนเงินจำนวนทั้งสิ้น 1 หมื่นบาท เพื่อแลกกับเงินกู้จำนวน 7 หมื่นบาท ที่ทางเว็บไซต์อ้างว่าจะโอนเข้ามาในบัญชีของเหยื่อ เมื่อเหยื่อโอนเงินเรียบร้อยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านั้นก็จะปิดการติดต่อทันที

รวมถึงกรณีของการโอนเข้ามาผิดบัญชี จากนั้นจะมีคนโทรเข้ามาให้โอนเงินคืน หรือใช้บัญชีธนาคารของเหยื่อ เพื่อการพนันในรูปแบบต่าง ๆ “การตามจับกุมมิจฉาชีพกลุ่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าคนเขาจงใจเป็นโจร เขาจะพยายามซ่อนตัวให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นโปรดอย่าหลงเชื่อ และพยายามตรวจสอบแหล่งที่มา ก่อนทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ และขอให้ใช้บริการจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น”

นอกจากนี้ พ.ต.อ.เสริมพันธุ์ ยังฝากถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กในกรณีที่มีเพื่อนทักข้อความมาขอยืมเงิน (ในกรณีที่อาจจะถูกแฮกเกอร์เข้าใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว)

“อย่าอายที่จะโทรไปสอบถามเพื่อนว่าเป็นเขาจริงหรือไม่ ที่ต้องการจะยืมเงินจากเรา เพราะถ้าเขากล้ายืม เราก็ต้องกล้าถาม” พ.ต.อ.เสริมพันธุ์ กล่าว

อ่านข่าว : ผู้ต้องหาแก๊งควาย ฝากถึงประชาชนและนักธุรกิจว่าอย่าโลภ หากโลภก็จะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพอย่างตนและพวก (กล่าวเพิ่มเติม คลิก)

รายงานเพิ่มเติม : เอกภพ ทองทับ

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่