ภูเก็ตกำหนดมาตรการควบคุมความปลอดภัย ถือศีลกินผัก 2564

ภูเก็ต – ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต เปิดเผย คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 5560/2564 เรื่อง มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในการจัดกิจกรรมงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2564

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 20 กันยายน 2564, เวลา 12:33 น.

บรรยากาศคืนส่งท้ายงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2563 ภาพ ปชส.ภูเก็ต

บรรยากาศคืนส่งท้ายงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2563 ภาพ ปชส.ภูเก็ต

ภายหลังจากจังหวัดภูเก็ตได้ทำการหารือแนวทางการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตกับศาลเจ้าต่าง ๆ สรุปในปีนี้ทางศาลเจ้าต่าง ๆ ยังสามารถจัดงานประเพณีถือศีลกินผักได้ แต่ต้องเป็นการจัดภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาด ในส่วนของการจัดงานในปีนี้ กำหนดไว้ วันที่ 6 -14 ตุลาคม 2564 โดยได้กำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ดังนี้

มาตรการด้านการป้องกันโรค

ให้แต่ละศาลเจ้าจัดพิธีการเป็นการภายในโดยมีผู้เข้าร่วมพิธี เฉพาะคณะกรรมการที่มีหน้าที่ม้าทรง และผู้เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นตามที่ผู้บริหารศาลเจ้ากำหนด โดยให้มีมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด
2. ม้าทรงทุกคนและพี่เลี้ยง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในศาลเจ้าทุกคน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม โดยได้รับการตรวจ (Antigen Test Kits) ATK ก่อนเริ่มวันถือศีลกินผัก 1 วัน และตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการกินผัก ทั้งนี้ หากพบว่ามีผู้ใดมีอาการเข้าเกณฑ์นิยามผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under Investigation: PUI) ให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลและงดร่วมกิจกรรม โดยให้ผู้บริหารศาลเจ้า หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบและควบคุมกำกับในกรณีดังกล่าว
3. ลดขั้นตอนและพิธีกรรมให้เหลือเท่าที่จำเป็น หากมีพิธีกรรมที่จะต้องออกนอกสถานที่ให้ใช้ขบวนรถแทนการเดินเท้า
4. ลดจำนวนม้าทรงและพี่เลี้ยง ให้ประทับทรงเท่าที่จำเป็น และงดการแสดงอภินิหารของม้าทรง
5. ให้มีการคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ศาลเจ้า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ในทุกพิธี ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รักษาระยะห่าง ตามมาตรการ D-M-H-T-T-A
6. ลดจำนวนจุดไหว้ให้เหลือเท่าที่จำเป็นและกำหนดจุดปักธูปสำหรับประชาชนให้อยู่ภายนอกห้องที่มีอากาศถ่ายเท
7. ห้ามมิให้ร้านค้าจำหน่ายประทัด (ยกเว้นประทัดแพที่ได้รับอนุญาต) และห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิง และเล่นประทัด ดอกไม้เพลิงอันตราย ตามประกาศของจังหวัดภูเก็ต
8. การจัดโรงครัว ให้จัดเท่าที่จำเป็น และไม่ควรจัดให้มีการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยให้แต่ละศาลเจ้ากำหนดรูปแบบการแจกจ่ายอาหารที่ลดความแออัดและให้สอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตให้คำแนะนำ ภายใต้การควบคุมกำกับของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ตามผนวก ก แนบท้ายคำสั่งนี้
9. การรวมกลุ่มกันของทุกกิจกรรม ห้ามรวมกลุ่มเกิน 100 คน ทั้งนี้ ให้รวมทุกประเภทและเว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร โดยให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

มาตรการควบคุมโรค

กรณีพบผู้ติดเชื้อในบริเวณประกอบพิธีกรรม หรือโรงครัวหรือสถานที่ประกอบอาหาร หรือร้านค้าบริเวณศาลเจ้า ให้สถานพยาบาลในพื้นที่นำตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา และกักตัวผู้สัมผัส ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด แล้วให้ปิดบริเวณนั้น อย่างน้อย 3 วัน เพื่อล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังจากนั้น จึงให้ผู้ปฏิบัติงานชุดใหม่เข้าปฏิบัติงานต่อได้
2. กรณีพบว่าประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในศาลเจ้าเป็นผู้ติดเชื้อและผลการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ใดในศาลเจ้า/ร้านค้า บริเวณศาลเจ้าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องเข้ารับการกักตัวตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค
3. กรณีพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้เข้าร่วม ให้พิจารณาปรับลดกิจกรรม ลดจำนวนคนเข้าร่วม และหากพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 20 ของผู้เข้าร่วมให้ยุติการจัดงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรค

ให้ศาลเจ้าทุกแห่งในพื้นที่ที่มีการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ตามมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2564 ในแต่ละอำเภอให้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่ออำเภอของแต่ละอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตามผนวก ข แนบท้ายคำสั่งนี้

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่