ประดิษฐานรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามฯ เชิดชูเกียรติผู้ตั้งเมืองภูเก็จ

ภูเก็ต – วันนี้ (28 ก.พ.) เทศบาลนครภูเก็ต พิธีประดิษฐานรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ผู้ตั้งเมืองภูเก็จเมื่อ 170 ปีที่แล้ว บนแท่นอนุสาวรีย์ ณ วัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) ตรงบริเวณมุมหน้าวัดวิชิตสังฆาราม ระหว่างถนนนริศรกับถนนเทศา ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับการตั้งเมืองภูเก็ต โดยมีนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวรายงานต่อ นายภัคพงค์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยข้าราชการและเอกชนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ข่าวภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563, เวลา 14:57 น.

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) เป็นบรรพบุรุษตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นบุตรพระภูเก็จ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จเก่า(กระทู้) เป็นหลาน ปู่เจ้าเมืองถลาง หรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม) พระยาวิชิตสงครามเป็นเจ้าเมืองภูเก็จสามรัชกาลคือ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 ท่านได้บุกเบิกทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณรอบอ่าวทุ่งคา สมัยนั้นบ้านทุ่งคายังเป็นป่ารกร้าง และเป็นป่าชายเลนริมทะเลที่ยังไม่มีผู้คนอยู่อาศัยท่านได้พัฒนาจัดตั้งเป็นบ้านเมือง ร้านค้าเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนดับคั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภูเก็ต รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองภูเก็จ (ใหม่) ที่บ้านทุ่งคา แทนเมือง ภูเก็จเก่าที่กระทู้

พระยาวิชิตสงครามฯ เป็นบุคคลสำคัญผู้พัฒนาบ้านเมืองจากพื้นที่รกร้างกลายเป็นเมืองที่ทันสมัย มีการค้าขายแร่ดีบุกกับต่างชาติ และมีเงินส่งภาษีเข้าส่วนกลางเป็นจำนวนมาก จนได้รับศักดินา 10,000 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวบริเวณเชิงเซาโต๊ะแซะ เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งในสมัยนั้น ท่านได้สร้างวัดวิชิตสังฆารามไว้บนที่ดินของท่าน การสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม เกิดขึ้นจากความตั้งใจและความร่วมมือร่วมแรงของทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต

เพื่อยกย่องเชิดชูและระลึกถึงคุณงามความดีพร้อมเผยแพร่เกียรติคุณ ผู้ตั้งเมืองภูเก็ตและจะเป็นสถานที่ที่แสดงถึงความกตัญญูของลูกหลานชาวกูเก็ต รูปหล่อสำริดอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ เป็นหนึ่งในผลงานขึ้นเอกของ อาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ปฏิมากรคนไทยผู้มีผลงานในระดับโลก ท่านได้ตั้งใจและทุ่มเทอย่างสุดความสามารถให้อนุสาวรีย์พระยวิชิตสงครามฯ เป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาวภูเก็ตซึ่งอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ บริเวณหัวมุมต้านหน้าวัดวิชิตสังฆาราม งบประมาณในการจัดสร้าง 9.3 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น งานประติมากรรม 7.5 ล้านบาท และงานสร้างฐานลานบริเวณอนุสาวรีย์ 1.8 ล้านบาท โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ในเวลา 09.09 น. โดยมีท่านเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และวันนี้พิธีอัญเชิญรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามประดิษฐานบนแท่นอนุสาวรีย์

ด้านนายภัคพงค์ กล่าวว่า “ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พิธีอัญเชิญรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามประดิษฐานบนแท่นอนุสาวรีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลตามประเพณีโบราณของชาติไทย ในครั้งนี้”

“พระยาวิชิตสงคราม เป็นเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถ เป็นนักพัฒนาและเป็นผู้บุกเบิกการทำแร่ดีบุกบ้านทุ่งคา ซึ่งเป็นแร่ดีบุก ที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของต่างชาติ จึงได้ติดต่อทำการค้ากับต่างประเทศจนนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมืองถึงปัจจุบัน ผมขอชื่นชมแนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงคราม เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดี และยกย่องเชิดชูเกียรติพระยาวิชิตสงคราม ผู้ตั้งเมืองภูเก็ตแห่งใหม่บริเวณบ้านทุ่งคาในครั้งนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนชาวภูเก็ต ในความตั้งใจ มุ่งมั่น ร่วมมือร่วมแรง ให้การดำเนินงานสร้างอนุสาวรีย์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และดำเนินการอัญเชิญรูปหล่อสำริด พระยาวิชิตสงครามมาประดิษฐาน ณ อนุสาวรีย์ แห่งนี้ ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้ลูกหลานได้รับทราบ และเรียนรู้ประวัติบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์แก่เมืองเภูก็ต และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ของภูเก็ตที่เกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้ ยังถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการเสริมสร้างความรักความสามัคคีของประชาชนชาวภูเก็ต และแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ก่อให้เกิดความรักความภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนคนภูเก็ต ขอให้คุณงามความดีที่ทุกท่านได้กระทำในครั้งนี้ เป็นต้นทุนให้ท่านและครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป” นายภัคพงค์ กล่าว

ประวัติย่อพระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)

พระยาวิชิตสงคราม รามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ์ พิทักษสยาม รัฐสีมา มาตยานุชิต พิพิธภักดี พิริยพาหะ จางวาง (วิเศษ) (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) หรือพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (ทัต)เป็นบรรพบุรุษของตระกูลรัตนดิลก ณ ภูเก็ต และเป็นเจ้าเมืองภูเก็จสามรัชกาล คือ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 (ปีพ.ศ. 2392-2412) เป็นบุตรของพระภูเก็จ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จในสมัยรัชกาลที่ 3 กับอำแดงแจ่ม ธิดาพระยาตะกั่วทุ่ง (ถิ่น) เป็นหลานปู่พระยาถลางหรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม)เจ้าเมืองถลาง (พ.ศ. 2354 – 2380)

เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมในปี 2392 ปลายสมัยรัชกาล 3 หลวงพิทักษ์ทวีป (ทัต) ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพระภูเก็จ (ทัต) เจ้าเมืองภูเก็จ แทนบิดา

พระยาวิชิตสงครามฯ เป็นเจ้าเมืองที่มีความสามารถสูง ได้ตั้งเมืองภูเก็จใหม่ขึ้นในบริเวณรอบอ่าวทุ่งคา(ตัวเมืองภูเก็ตปัจจุบัน) ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยแหล่งแร่ดีบุก มีการประกอบกิจการเหมืองแร่และการค้าในเมืองภูเก็จที่เจริญเติบโตไปพร้อมกับการสร้างเมืองภูเก็จ โดยท่านได้ชักชวนให้กรรมกรชาวจีน พ่อค้าชาวจีนทั้งที่มาจากเมืองจีนและจากกรุงเทพฯมาทำเหมืองแร่ดีบุก ทำให้ตัวเมืองภูเก็จสมัยนั้นมีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการค้าขายกับต่างประเทศและมีเงินภาษีส่งเข้าส่วนกลางเป็นจำนวนมาก จนเจ้าเมืองภูเก็จได้รับ ศักดินา 10,000 ไร่ โดยเฉพาะที่ดินบริเวณเชิงเขาโต๊ะแซะ ซึ่งปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งได้ใช้เป็นสถานที่สร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต สถานที่ราชการต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดวิชิตสังฆาราม(วัดควน) พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2421 ศิริรวมอายุ 54 ปี

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

การจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ เป็นความร่วมมือของจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต วัดวิชิตสังฆาราม และประชาชนชาวภูเก็ตทุกภาคส่วน เพื่อเชิดชู ระลึกถึงคุณงามความดีและเผยแพร่เกียรติคุณของผู้ตั้งเมืองภูเก็ตเมื่อ 170 ปีที่แล้ว (ทน.ภูเก็ตในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดนิทรรศการ 170 ปี เมืองทุ่งคา พระยาวิชิตสงคราม ในงานย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา เพื่อยกย่องเชิดชู ระลึกถึงคุณงามความดี และเผยแพร่เกียรติคุณ พระยาวิชิตสงครามฯ)

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ จะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ที่กระตุ้นเตือนให้ลูกหลานชาวภูเก็ตและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งจะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ภูเก็ตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ประติมากรผู้ปั้นรูปจำลองพระยาวิชิตสงครามฯ คือ อาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ซึ่งเป็นประติมากรไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะมาสร้างผลงานประติมากรรมเหมือนจริงพระยาวิชิตสงครามฯ ให้กับชาวภูเก็ต

ซึ่งผลงานชิ้นเอกของอาจารย์สันติที่ผ่านสายตาคนไทย คือ งานประติมากรรมพระรูปเหมือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแย้มพระสรวล ซึ่งได้เริ่มต้นงานปั้นในสถานที่ที่พระองค์ท่าน ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เคมบริดจ์, รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

รายละเอียดอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

วัสดุ: ซิลิคอนบร็อนซ์ (สำริด)
ขนาดรูปหล่อ: สูง 2.55 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ลึก 1.99 เมตร
ขนาดฐานอนุสาวรีย์: สูง 1.80 เมตร กว้าง 2.30 เมตร ลึก 2.30 เมตร
โรงหล่อ: สมบุญไฟน์อาร์ท อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
พื้นที่ลานบริเวณอนุสาวรีย์: 164 ตรม.

ที่มา : เทศบาลนครภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่