‘บิ๊กตู่’ คุมทุจริต ปลุกกระแส-กู้ภาพลักษณ์

ตลอดเดือน ม.ค. ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของปี 2560 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีบททดสอบเข้ามาท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นระยะ

โพสต์ทูเดย์

วันเสาร์ ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560, เวลา 14:21 น.

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ภาพ โพสต์ทูเดย์

เข้าปีใหม่ไม่ทันไรพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินจำนวนไม่น้อย แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมาจากธรรมชาติ แต่รัฐบาลกลับเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือว่าทันกับความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่านั้นก็ไม่มีผลต่อสถานะและความมั่นคงของรัฐบาล เพราะผลสำรวจความนิยมส่วนใหญ่ พบว่าต่างยังให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ทำงานต่อไป

ถัดมาเป็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศและการสร้างความปรองดอง เดิมทีเริ่มต้นได้อย่างไร้ปัญหาหลังจากตอนแรกฝ่ายการเมืองให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการส่งสัญญาณพร้อมเข้าร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ

ทว่า ทำไปทำมาปรากฏว่าฝ่ายการเมืองและภาคประชาชนเริ่มเมินหน้าหนีอย่างน่าตกใจ เนื่องจากฝ่ายการเมืองเห็นว่าทหารไม่ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพหรือเป็นคนกลางใดๆ ทั้งสิ้น โดยทหารควรทำหน้าที่เฉพาะสนับสนุนและความร่วมมือ

ทหารไม่สามารถมาเป็นคนกลางได้ เพราะปัจจุบันกองทัพนับเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งทางการเมือง การมีคนมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่ควรเข้าเป็นเจ้าภาพอย่างที่พยายามอยู่แต่อย่างใด ตรงนี้ทำให้เป็นสาเหตุที่นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิยังไม่ตอบรับคำเชิญจากทหารในการเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการปรองดองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าเวลานี้เรื่องใด คือ ศึกหนักที่สุด คงจะหนีไม่พ้น “การปราบปรามการทุจริต”

รัฐบาลพยายามกล่าวอ้างมาตลอดว่าตัวเองไม่ได้เป็นพรรคการเมืองและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคำนึงก็เฉพาะผลประโยชน์ของส่วนรวม

ปรากฏว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังเจอโดนของย้อนเข้าตัว

ของเข้าที่ว่านั้น คือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยแพร่รายงานการจัดอันดับความโปร่งใสประจำปี 2559 พบว่าไทยมีอันดับตกลง โดยอยู่ในอันดับ 101 มี 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่งผลให้อันดับของไทยที่ได้รับนั้นเทียบเท่ากับประเทศกาบอง ไนเจอร์ เปรู ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต และตรินิแดดและโตเบโก

เมื่อผลสำรวจระบุชัดเจนว่าเป็นของปี 2559 ส่งผลให้รัฐบาลไม่อาจโทษได้ว่าเป็นมรดกบาปที่รัฐบาลเก่าได้ทิ้งเอาไว้ จึงเป็นผลลัพธ์ที่ต้องรับไว้เพียงผู้เดียว พร้อมกับคำถามที่ตามมาเกี่ยวกับความโปร่งใสอีกจำนวนมาก

ผลสำรวจดังกล่าวสร้างความหัวเสียให้กับรัฐบาลพอสมควร เพราะหมายถึงการโดนตบหน้าเข้าอย่างจัง เป็นผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งเป็นหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดย่อย (มินิคาบิเน็ต) ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

มินิคาบิเน็ตชุดนี้ตั้งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาการทุจริตในเชิงโครงสร้างเป็นหลักมากกว่าที่จะเน้นการตรวจสอบในเชิงปลายทาง

โดยรัฐบาลจะวางหลักไปถึงการแก้ไขกติกาการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ภายหลังผลการวิจัยส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าการทุจริตของประเทศเกิดขึ้นมากในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลัก อย่างน้อยจะเป็นการช่วยให้การทุจริตลดลง

“จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดราคากลาง ซึ่งถือเป็นการอุดรูรั่วและแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุด และได้กำชับกับหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบหลัก อย่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง รวมทั้งกระทรวงต่างๆ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ความสำคัญในเรื่องการกำหนดราคากลาง และการจัดซื้อจัดจ้างให้เข้มงวด” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุ

การปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการทุจริตครั้งนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถกแขนเสื้อลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ เพราะรัฐบาลยังต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือ 2 ปีตามโรดแมป

ดังนั้น หากไม่เร่งแก้ไขให้เป็นรูปธรรมจนผลสำรวจความโปร่งใสในปีถัดไปตกต่ำอีก ความมั่นคงที่รัฐบาลเคยมั่นใจอาจจะถูกสั่นคลอนและสร้างความสั่นสะเทือนมาถึงทำเนียบรัฐบาลอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่