นักวิชาการเผย ในยางวิกฤตคลื่นเซาะฝั่ง น้ำจืดไหลลงทะเล

ข้อมูลใหม่ หาดในยางวิกฤติคลื่นกัดเซาะจากน้ำจืดไหลลงทะเลทำปะการังแนวกันคลื่นตามธรรมชาติตายเกลื่อน

เอกภพ ทองทับ

วันพุธ ที่ 25 มกราคม 2560, เวลา 12:27 น.

ส่วนภาพรวมฝั่งอ่าวไทยชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร อันดามันพบว่าชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะระยะ 4-5 กิโลเมตร แนะไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างและแนวกันคลื่นยิ่งส่งผลกระทบคลื่นกัดเซาะชายหาดเสียหาย

วานนี้ (24 ม.ค. 60) ที่ห้องประชุม สถานบันประชารัฐ พิทักษ์ทะเล อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต นายณัฐพล รัตนพันธุ์ ผอ.ส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ และผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ทั้ง 6 แห่ง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล 26 อุทยาน ร่วมหารือโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเลระดับต้น  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 27 มกราคม 2560

หลังการอบรมได้มีการหารือในประเด็นสำคัญ ที่พบว่าในระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมาพบว่าบริเวณแนวชายหาดทั้ง อ่าวไทย และอันดามัน คลื่นได้กัดเซาะชายหาดจนทำให้บริเวณชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะหายไปกว่า 8-10 เมตร สาเหตุหนึ่งคือการทำแนวกันคลื่น หรือสิ่งปลูกสร้างบริเวณหน้าชายหาดในพื้นที่ชายฝั่ง มีข้อมูลจากฝั่งอ่าวไทยพบว่าแนวชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ด้านฝั่งอันดามันพบว่าชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะระยะ 4-5 กิโลเมตร ทำให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ นำนักวิชาการมาวิเคราะห์และหาแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่

สำหรับในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้น นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง  อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่าจากการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดในจังหวัดภูเก็ต พบว่ามีที่หาดในยาง ยาวตลอดแนวไปจนถึงหาดทรายแก้ว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งจากการศึกษาเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะบริเวณชายหาดในยางตลอดแนวไปจนถึงบริเวณหาดทรายแก้ว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบว่าสาเหตุเกิดจากแนวปะการังที่ช่วยชะลอความแรงของน้ำทะเลตายและเสื่อมโทรมลง ซึ่งแนวปะการังถือเป็นเกราะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการในการป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาด เมื่อไม่มีแนวปะการังความแรงของน้ำก็โถมเข้าใส่ชายหาดอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีการกัดเซาะชายหาดเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบริเวณชายหาดในยางมีการกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่ทำให้แนวปะการังตายบริเวณหาดในยางพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของน้ำจืดที่ไหลลงทะเล ซึ่งเดิมน้ำจะไหลลงทะเลที่บริเวณคลองพม่า ซึ่งจุดนั้นเป็นจุดที่ไม่มีปะการัง แต่มาระยะหลังน้ำได้เปลี่ยนเส้นทางมาไหลลงคลองที่บริเวณทางเข้าอุทยานเนื่องจากมีการก่อสร้างและมีการถมพรุต่างๆ ทำให้น้ำฝนหรือน้ำจากส่วนอื่นไหลลงทะเลโดยตรง เมื่อน้ำจืดไหลลงทะเลในปริมาณมากส่งผลให้ปะการังตาย เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาในจุดนี้สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนทิศทางไหลลงทะเลของน้ำให้กลับไปไหลลงในทิศทางเดิมที่ไม่มีแนวปะการัง และการต่อท่อให้น้ำจืดไหลลงท่อไปปล่อยในทะเลลึก ซึ่งจะทำให้น้ำจืดไม่รบกวนแนวปะการังน้ำตื้น โดยทั้ง 2 แนวทาง จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวของในการดำเนินการ

ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังมีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดอีกหลายแห่ง โดยจุดที่น่าเป็นห่วงอีกจุดคือที่บริเวณ เกาะสิเหร่และหาดราไวย์ ที่ปัจจุบันพบว่ามีความรุนแรงมาก ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายหาดโดยการทำแนวกั้น นั้นพบว่าไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา แต่กลับไปเพิ่มความรุนแรงของการกัดเซาะมากขึ้น โดยทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนทิศทางไปกัดเซาะบริเวณใกล้เคียงและเป็นการกัดเซาะที่รุนแรงกว่าเดิมมาก จึงคิดว่าการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายทะเลในแต่ละจุดนั้นจะต้องศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงและหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดต่อไป

นอกจากนี้ทางนอกจากประเด็นการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เตรียมให้มีการอบรมมัคคุเทศก์ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรใต้ทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยจะให้มัคคุเทศก์ที่มีบัตรหรือใบอนุญาตผ่านการอบรมจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เท่านั้นที่สามารถนำนักท่องเที่ยวเข้าแหล่งท่องเที่ยวภายในเขตอุทยานแห่งชาติฯ รวมถึงหารือการปรับภูมิทัศน์ภายในเขตอุทยานฯรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอุทยานทางทะเล 26 แห่ง ซึ่งล่าสุดได้รับอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงและอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ
 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่