ขนส่งภูเก็ตเร่งรณรงค์รถตู้ติดตั้ง GPS 1 ปีผ่านไป คืบหน้า 50% คาดติดครบภายในปี 60

วันพฤหัสบดี ที่ 12 มกราคม 2560, เวลา 09:27 น.

ในยุคสมัยนี้ ต้องยอมรับว่าการเดินทางคมนาคมถือว่าเป็นเรื่องที่สะดวกมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศ โดยเฉพาะทางบก ทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการเดินทางได้เลือกอยู่มากมาย ทั้งการโดยสารด้วยรถส่วนตัว รถไฟ รถทัวร์ หรือรถตู้ และการเดินทางโดยสารรถตู้ทุกวันนี้นับว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากในระดับหนึ่งเนื่องจากในปัจจุบัน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางโดยรถตู้ 

 

วันนี้นายสมหมาย สุดขาว ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานข่าวภูเก็ตถึงเรื่องการเพิ่มมาตรการความเข้มงวดและตรวจขันผู้ขับขี่รถตู้โดยสาร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ นายสมหมายกล่าวว่า “ในตอนนี้ มาตรการการควบคุมผู้ขับขี่รถตู้คือ ทำงาน 4 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง จากนั้นขับต่อได้ 4 ชั่วโมง แต่จะจำกัดไม่ให้ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่หักโหมขับรถมากเกินไป เพราะจะเกิดการเหนื่อยล้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการหลับในที่นำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุและและสูญเสีย”

 

“อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการที่มีส่วนรวม ให้เพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้น พยายามตรวจรถ ตรวจคนขับ ว่ามีความพร้อมในการขนส่งผู้โดยสารหรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีแอลกอฮอล์หรือขับรถเร็วเกินกำหนด ก็จะต้องถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 40,000 บาท”

                                                                                                                                     

“กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มมาตรการมาตั้งแต่ต้นปี 2559แล้วว่า รถตู้โดยสารทุกคันจะต้องติดตั้งระบบ GPS ตอนนี้มีติดตั้งไปแล้วประมาณ 4,600 กว่าคัน ซึ่งคิดได้เป็น 50% หรือครึ่งหนึ่งจากจำนวนรถตู้ทั้งหมด เช่นเดียวกับรถบัสที่ติดตั้งระบบ GPS ไปแล้ว 1,000 กว่าคัน จากทั้งหมด 2,000 กว่าคัน ส่วนรถประจำทางทั่วไปมีจำนวนประมาณ 200 กว่าคัน ในขณะนี้ขนส่งก็กำลังรณรงค์เร่งให้ผู้ประกอบการนำรถมาติดตั้งให้ได้ทั้งหมดโดยการส่งจดหมาย เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์แก่ส่วนรวมของการติด GPS ทั้งนี้ กรมการขนส่งคาดหวังว่าจะลดปัญหาการเกิดอุบัติให้ลดน้อยลงมาก”

 

รถตู้ทุกคนที่จดทะเบียนใหม่หลังจากปี 2559 จะต้องนำใบรับรองการติดตั้ง GPS จากผู้ประกอบการมาอ้างอิงทุกคัน มิฉะนั้นทางขนส่งจะได้ไม่ดำเนินการจดทะเบียนใหม่ ส่วนรถที่จดทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้ติดตั้ง GPS ก็ต้องติดตั้งให้เรียบร้อยก่อนปลายปีนี้ (2560) เพราะอุปกรณ์ GPS นับว่าเป็นอุปกรณ์ส่วนควบ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ในรถตู้โดยสารตามมาตรา 77 ของพรบ.กรมขนส่งทางบก หากตรวจพบว่าไม่ได้ติดตั้ง จะต้องถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 50,000 บาท โดยรถตู้ที่ต้องติดตั้ง GPS นั้นคือรถตู้ประเภทป้ายเหลือง คือรถตู้รับจ้างทั่วไป ทั้งในสนามบินหรือรถประจำทางหรือแม้แต่รถตู้ที่ใช้รับส่งผู้โดยสารไปร่วมทริปหรือดูการแสดงโชว์ต่างๆ 

 

ทั้งนี้นายสมหมายได้กล่าวถึงขั้นตอนการติดตั้งระบบ GPS ว่า เจ้าของรถจะนำไปติดตั้งที่ไหนก็ได้ แต่ผู้ให้บริการจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมขนส่งทางบก เมื่อติดตั้งแล้ว ผู้บริการก็จะจะออกหนังสือรับรองหมายเลขซีรีส์ให้ ส่วนในด้านของราคาค่าติดตั้งนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 บาท ช่วงแรกจะอยู่ที่ 10,000 กว่าบาทแต่ภายหลังผู้ให้บริการเริ่มปรับราคาลงเนื่องจากมีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ผู้ขับรถตู้เองจำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนเพื่อรองรับการใช้งานเชื่อมต่อกับเครื่อง GPS ด้วย

 

GPS (จีพีเอส) คือ ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (Global Positioning System: โกลบอล โพซิชั่นนิ่ง ซีสเต็ม) หรือเรียกสั้นๆ ว่า GPS หมายถึง ระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลกโดยอาศัยการคำนวณระบบพิกัดกริดแบบยูทีเอ็ม(Universal TransverseMercator: UTM) ทั้งหมด 60 โซนจากนาฬิกาที่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก ซึ่งมีตำแหน่งที่แน่นอน ระบบนี้สามารถบอกตำแหน่ง ณ จุดที่สามารถรับสัญญาณได้ทั่วโลกโดยเครื่องรับสัญญาณ GPS รุ่นใหม่ๆ จะสามารถคำนวณความเร็วและทิศทาง โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับโปรแกรมแผนที่เพื่อใช้ในการนำทางได้

นายสมหมาย อธิบายถึงประโยชน์ของการติดตั้ง GPS ว่า “ระบบนี้เมื่อติดตั้งกับรถแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนของรถจะถูกเชื่อมต่อมายังการควบคุมของขนส่งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของรถ ความเร็วในการขับรถ ทุกอย่างจะส่งมาหมด เราสามารถทราบและตรวจสอบได้จากระบบนี้ ถ้าหากรถขับเร็วเกินกว่ากำหนด GPS จะส่งสัญญาณเตือนที่รถ ทั้งในรูปแบบเสียงและคำเตือนให้คนขับทราบว่ากำลังขับรถเร็วอยู่ และในขณะเดียวกัน GPS ก็ส่งสัญญาณเข้ามาที่ศูนย์ควบคุมของขนส่งด้วย เพราะฉะนั้นเราสามารถรู้ได้ว่าคันไหนขับเร็วแค่ไหน”

 

นอกจากนี้ นายสมหมายได้กล่าวถึงแอพพลิเคชั่น (Application) ตัวใหม่ของกรมการขนส่งทางบกและกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ว่า “แอพพลิเคชั่นตัวนี้เรียกว่า DLT GPS สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้แล้วทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android แอพฯตัวนี้จะเป็นตัวช่วยสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถตู้โดยสารในการตรวจสอบว่าขณะนี้รถกำลังขับอยู่ที่ไหนและขับด้วยความเร็วเท่าไหร่ โดยผู้โดยสารสามารถป้อนหมายเลขทะเบียนรถเข้าไปในระบบ ถ้าหากว่ารถกำลังขับเร็วเกินกว่ากำหนด ขับอันตราย กำลังขับออกนอกเส้นทาง บรรทุกผู้โดยสารเกินกำหนดหรือเก็บค่าโดยสารเกินกำหนดก็สามารถร้องเรียนบนแอพฯได้เลย แอพฯจะส่งข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมทันทีและเราจะทำการแจ้งไปยังคนขับเพื่อให้ลดความเร็วลง นอกจากนี้ผู้ใช้แอพฯยังสามารถแจ้งเหตุทั่วไปเข้ามาได้ เช่น รถเสีย ยางแตก รถชนหรือสภาพการจราจรติดขัดและอื่นๆ หรือแม้แต่ค้นหาสถานีขนส่งที่ใกล้ตัวท่านที่สุด ถ้าหากมีการแจ้งเหตุฉุกเฉินเข้ามาเช่นรถเสีย เราก็จะดำเนินการประสานต่อไปยังหน่วยกู้ภัยเพื่อเข้าช่วยเหลือ และที่สำคัญ ทางขนส่งเองจะได้ตรวจสอบเวลาการทำงานของคนขับด้วยว่าขับเกินชั่วโมงที่กำหนดไว้ว่าต้องขับเที่ยวละไม่เกิน 4 ชั่วโมงหรือไม่ ได้พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลับใน”

 

ถ้าหากผู้ใดไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถโทรร้องเรียนโดยตรงมาที่สายด่วน 1584 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อบริการรับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเหตุ หรือสอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกรมขนส่งทางบก

 

หมายเหตุ: Application (แอพพลิเคชั่น) หรือที่ทุกคนเรียกกันสั้นๆ ว่า App (แอพฯ) มันคือ โปรแกรมที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ที่ออกแบบมาสำหรับ Mobile (โมบาย) Tablet (แท็บเล็ต) หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ ที่เรารู้จักกัน ซึ่งในแต่ละระบบปฏิบัติการจะมีผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมามากมายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งจะมีให้ดาวน์โหลดทั้งฟรีและจ่ายเงิน ทั้งในด้านการศึกษา ด้านการสื่อสารหรือแม้แต่ด้านความบันเทิงต่างๆ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบระบบแก๊สบนรถตู้โดยสารว่า รถทุกคันจะต้องตรวจสอบความพร้อมของระบบแก๊สก่อนเสียภาษีรถทุกปีอยู่แล้ว คนขับจะต้องนำรถไปเช็คกับอู่และนำใบรับรองจากอู่มายื่นในการต่อภาษี ถ้าหากไม่มี ขนส่งก็จะไม่ต่อภาษีให้”

 

“มาตรการการควบคุมและลดการเกิดอุบัติเหตุนี้จะประสบผลสำเร็จไม่ได้ถ้าหากว่าไม่ได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขนส่งฝ่ายเดียวคงทำงานไม่พอ ต้องพึ่งพาอาศัยจากหลายฝ่าย ทั้งจากผู้ประกอบการ คนขับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และอยากจะประชาสัมพันธ์ไปยังคนขับรถตู้ทุกท่านที่ยังไม่ได้ติดตั้งระบบ GPS ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนปี 2560 เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” นายสมหมายกล่าวปิดท้าย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่