กรมอนามัย แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมช่วงหน้าร้อน เพื่อลดความเสี่ยง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมในช่วงหน้าร้อน ลดความเสี่ยงเกิดโรคฮีทสโตรก ภาวะขาดน้ำ ตะคริวแดด ผิวไหม้ แนะ เลือกเวลาเช้าตรู่หรือช่วงเย็น สถานที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 29 มีนาคม 2564, เวลา 11:00 น.

แฟ้มภาพงาน Patong Cosplay Beach Run 2019 : ทม.ป่าตอง

แฟ้มภาพงาน Patong Cosplay Beach Run 2019 : ทม.ป่าตอง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนประชาชนสามารถ มีกิจกรรมทางกาย หรือการขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ โดยเลือกทำกิจกรรมในอาคาร หรือที่ร่ม แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ทำได้ ในระยะเวลาและความหนักไม่มากเกินไป เช่น การเดินไปซื้อของระยะทางสั้น ๆ โดยใช้อุปกรณ์กันแดด อาทิ ร่ม หมวก หรือการทำความสะอาดบริเวณนอกบ้าน เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แนะนำให้เลือกช่วงเวลาตอนเช้าตรู่หรือช่วงเย็น เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี ทาครีมกันแดดก่อนออกกำลังกายกลางแจ้ง ดื่มน้ำ และอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างการออกกำลังกาย ทุก 15 -20 นาที เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อและป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรสังเกตอาการผิดปกติของการขาดน้ำ และการมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงเกินไป เช่น รู้สึกร้อนมาก หัวใจเต้นแรงและเร็ว กระหายน้ำมาก

“ทั้งนี้ การออกกำลังกายที่หนักเกินไปและไม่มีการเตรียมพร้อมในช่วงอากาศร้อน จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยอาจเกิดภาวะที่เป็นอันตราย อาทิ ลมแดด หรือฮีทสโตรก ซึ่งมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็ว อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส กล้ามเนื้อเกร็ง รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดลง ในบางรายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ และภาวะขาดน้ำหรือเพลียแดดจะมีอาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ ปากแห้ง และโรคตะคริวแดด มักพบในคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน"

"โดยผู้ป่วย จะมีอาการปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อ หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดออกกำลังกายทันทีและให้รีบมาอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด ส่วนโรคผิวไหม้แดด ผิวบริเวณที่เป็นจะมีรอยแดง ปวดแสบ ปวดร้อน ควรประคบด้วยความเย็น หมั่นทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้เป็นประจำ โดยทั่วไปมักจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หากไม่ออกไปโดนแดดซ้ำ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ผิวหนัง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา: กรมอนามัย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่