อ.ธรณ์ อธิบายชัด กรณีปิดอ่าวมาหยา 4 เดือนฟื้นฟูสมบัติของชาติ

กระบี่ - ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ อาจารย์ธรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เมื่อประมาณ 13 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่าด้วยหัวข้อ “ผมขออธิบายเรื่อง #ปิดอ่าวมาหยา ในรายละเอียด เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันครับ”

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันศุกร์ ที่ 30 มีนาคม 2561, เวลา 11:12 น.

ภายหลังจากที่ได้มีการโพสต์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า “ที่ประชุมอุทยานทางทะเลที่มีทั้งท่านอธิบดี ท่านรอง 2 ท่าน ท่านผอ.อุทยาน ฯลฯ มีความเห็นร่วมกัน #ปิดมาหยา 4 เดือน และเมื่อเปิด จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 2,000 คนต่อวัน (จาก 4-5 พัน) และไม่ให้เรือแล่นผ่านแนวปะการังเข้ามาหน้าหาดอีกแล้ว ปีต่อไปและต่อไปก็เป็นเช่นนี้ และเป็นเช่นนี้ นี่คือคำตอบชัดเจนจากกรมอุทยาน จากชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะพีพี - ทะเลต้องมาก่อน! คือคำตอบของเมืองไทยไปสู่ชาวโลกว่า การท่องเที่ยวไม่ใช่ทุกสิ่ง เมื่อถึงเวลาต้องเลือก เราเลือกรักษาสมบัติของชาติ”

โดย อ.ธรณ์ได้อธิบายเพิ่มเติม ถึงการปิดอ่าวมาหยาว่า ในปัจจุบันอ่าวมาหยามีนักท่องเที่ยว 3-4 พันคนต่อวัน และโดยมีเรือมากกว่า 200 ลำแล่นผ่านแนวปะการังเพื่อเข้ามาจอดเทียบชายหาด โดยแบ่งขีดความสามารถในการรองรับด้านการท่องเที่ยว ออกเป็น 5 ด้าน นิเวศ จิตวิทยา กายภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก และสังคมวัฒนธรรม ดังนี้

ด้านนิเวศ เห็นได้ชัดว่าปัญหาอย่างมากที่แนวปะการังเสื่อมโทรมหนัก กำลังเริ่มมีปัญหาที่หาดทรายและป่าชายหาดที่นักท่องเที่ยวเดินเหยียบย่ำ ส่วนจิตวิทยา การสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว พบว่าเกือบทั้งหมดบอกว่าหนาแน่นมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่น้ำขึ้น พื้นที่หาดมีน้อย ทำให้คนมาแออัดกัน สำหรับกายภาพ อ.ธรณ์ชี้ว่าพื้นที่ราบในอ่าวมาหยามีจำกัดมาก เพียงแค่ไม่กี่สิบไร่ที่เหลือเป็นเขาหินปูนสูงชันไม่มีทางขึ้นไปได้ ส่วนปัญหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวก คือมี พื้นที่แออัด ไม่มีน้ำจืดพอ หากขยายพื้นที่บริการ หมายถึงต้องถางป่าชายหาดที่หายากยิ่ง และในด้านสังคมวัฒนธรรม – อ่าวมาหยาเป็นของอุทยาน ไม่มีชาวบ้านอาศัย ไม่มีผลด้านนี้

พร้อมกับอธิบาย ถึงขั้นตอนการแก้ปัญหา ที่จะดำเนินการใน 3 ขั้นตอน หลังจากวิเคราะห์โดยดูจากสภาพปัญหาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องเน้นนิเวศและจิตวิทยา โดยในอันดับแรก คือการปิดอ่าวมาหยา 4 เดือน คือ มิ.ย.-ก.ย. ไม่อนุญาตให้นำเรือเข้ามาในแนวปะการัง ไม่ให้มีการท่องเที่ยว ไม่ให้คนขึ้นหาดไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหน

ซึ่งอุทยานจะกั้นเชือกบอกเขตห้ามเข้า เรือสามารถมาลอยลำนอกเขตแล้วมองดูอ่าวมาหยาจากจุดนั้น แต่ไม่สามารถเข้าเลยเขต วิธีการนี้จะช่วยผู้ประกอบการ เพราะสามารถพานักท่องเที่ยวมาอ่าวมาหยาได้ แม้ขึ้นหาดไม่ได้ เข้าแนวปะการังไม่ได้ อย่างน้อยก็สามารถมองวิวและเห็นอ่าวมาหยา

อันดับสอง ระหว่างที่ปิด อ.ธรณ์และทีมงานผู้เกี่ยวข้องจะระดมปลูกปะการัง ปรับปรุงเส้นทางเดินบนเกาะ ฯลฯ รวมทั้งหาทางปรับปรุงเส้นทางเข้าหาดทางอ่าวโละซามะ ส่วนอันดับสาม เมื่อเปิดอ่าวมาหยาอีกครั้งในเดือนตุลาคม จะไม่อนุญาตให้เรือเข้าอ่าวมาหยา แต่จะให้เข้าทางอ่าวโละซามะ เพราะฉะนั้น เรือจะไม่รบกวนปะการังที่กำลังฟื้นฟู

นอกจากนี้ ยังจะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ให้เหลือเพียง 170-180 คน/ช่วงเวลา หรือไม่เกิน 2,000 คนต่อวัน ซึ่งเมื่อปริมาณเรือน้อยลง เหลือแค่ 100 ลำต่อวัน เราเชื่อว่าจะสามารถจัดการได้ง่ายขึ้น และให้ขึ้นทางอ่าวโละซามะได้ พร้อมชี้อีกว่า ถึงแม้ว่าอ่าวโละซามะจะมีปะการังอยู่บ้าง แต่ทีมงานได้ทำการสำรวจอย่างละเอียดและได้วางจุดที่จะทำท่าเรือลอยน้ำขนาดเล็กโดยไม่ให้รบกวนแนวปะการัง นอกจากนี้ ปริมาณคนที่น้อยลง หมายถึงนักท่องเที่ยวจะพึงพอใจมากขึ้น และเป็นความต้องการลำดับแรกของนักท่องเที่ยว

นอกจากแผนการที่วางเอาไว้แล้ว อ.ธรณ์ชี้ว่ายังต้องทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เพราะพีพีมีอ่าวและหาดที่นิยมเพื่อการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 14 แห่ง และการปิดอ่าวมาหยาก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเที่ยวพีพีไม่ได้ เพราะพื้นที่รองรับที่มีหาดทรายกว้างใหญ่งดงาม และยังรับคนได้อีกคือ เกาะไผ่ และยังมีหาดอื่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวไปได้ โดยไม่รบกวนแนวปะการังมากเกินไปนัก ซึ่งยังต้องปรับปรุงพื้นที่เหล่านั้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้นและรบกวนธรรมชาติน้อยลง

“ทั้งหมดนี้คือแนวทางสำหรับอ่าวมาหยาและ #พีพีโมเดล ซึ่งแน่นอนว่ายังต้องทำงานกันอีกเยอะ จึงอยากให้กำลังใจเจ้าหน้าอุทยานพีพี รวมทั้งผู้บริหารกรมอุทยาน ตลอดจนผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการบนพีพีทุกท่าน การแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานแสนนาน มันไม่ง่ายแน่นอนครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเคยช่วยกันทำจนสำเร็จมาหลายเรื่องแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะช่วยกันต่อไป และคนพีพีจะได้ภาคภูมิใจกับเกาะที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าสวยติด 1 ใน 5 ของโลก” ดร.ธรณ์ กล่าว

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่