'คุณค่าแห่งปะการัง' เบื้องหลังโครงการฟื้นฟูแนวปะการังอ่าวมาหยา

กระบี่ - เรื่องราวของอ่าวมาหยากลายเป็นข่าวพาดหัวให้เราได้เห็นกันบ่อยมากในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวท้องถิ่นหรือข่าวระดับนานาชาติ และแม้ว่าหัวข้อข่าวที่พูดถึงจะออกไปในแนวทางที่เป็นประเด็นถกเถียงกันว่าอ่าวมาหยาจะถูกปิดต่อไปอีกนานแค่ไหน หรือจะเป็นวิดีโอของปลาฉลามครีบดำหรือปลาฉลามหูดำที่หวนกลับคืนสู่อ่าวมาหยา

Amy Bryant

วันอาทิตย์ ที่ 23 มิถุนายน 2562, เวลา 09:00 น.

ซึ่งนั่นก็ต้องยกความดีความชอบให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาบริเวณดังกล่าว ที่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลฟื้นฟูปะการังมากกว่าเงินตรา ราวกับว่าตอนนี้ทุกสายตาบนโลกต่างก็กำลังให้ความสนใจและจับจ้องมาที่อ่าวเล็ก ๆ แห่งนี้บนเกาะพีพีเล

อดีตแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่เพียง 250 x 15 เมตร แต่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่าล้านคนต่อปี - มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 คนต่อวัน นับตั้งแต่ได้มีการถ่ายทำหนังฮอลลีวูดชื่อดังในปี 2000 เรื่องThe Beach นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดีแคพริโอ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศออกมาว่าระบบนิเวศทางทะเลที่อ่อนแอได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวที่มากเกินไป จึงจำเป็นต้องปิดอ่าวมาหยาในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและใต้ทะเล ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชตัดสินใจว่าจะเปิดอ่าวมาหยาอีกครั้งในช่วงกลางปี 2564 หลังจากการฟื้นฟูของระบบนิเวศในพื้นที่ ทั้งนี้ต้องขอแสดงความขอบคุณในการจัดทำโครงการต่าง ๆที่ได้รับการสนับสนุนโดย ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง องค์กร Ocean Quest Global กลุ่มอนุรักษ์ Reef Guardian Thailand และกลุ่มอาสาสมัครนักดำนํ้า

The Phuket News ได้มีโอกาสพูดคุยกับมานูเอล ซาน มาร์ติน (Manuel San Martín) นักดำนํ้ามากประสบการณ์ จากบัวโนสไอเรสประเทศอาร์เจนตินา ผู้ซึ่งได้เข้าร่วมองค์กร Ocean Quest Global เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเขาเองยังเป็นเจ้าของกิจการทัวร์เกาะพีพี Pura Vida Divingชายหนุ่มสละเวลาระหว่างทริปที่อ่าวมาหยาครั้งล่าสุด เพื่อมาเล่าให้เราฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่แห่งนั้น

อ่าวมาหยาได้รับความเสียหายอย่างไร?

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศปิดอ่าวไปนั้น อ่าวมาหยาห่างไกลจากสิ่งที่เหล่าบรรดาทัวร์ไกด์และโบรชัวร์ให้สัญญาเอาไว้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นจริงที่ว่าอ่าวที่เคยสวยงามตามธรรมชาตินั้นถูกรบกวนด้วยนักท่องเที่ยวเดย์ทริปจำนวนมากตลอดทั้งวัน ผืนทรายสีขาวถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยว เรือสปีดโบ๊ท และเรือหางยาวที่จอดเรียงรายกันอยู่ตลอดแนวชายหาดและแน่นอนว่าทั้งสมอเรือ ใบพัดเรือ กระดูกงูของเรือ และลำเรือก็จะต้องครูดกับแนวปะการังหรือส่งผลกระทบต่อการมีอยู่ของแนวปะการัง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ปะการังในพื้นที่

“แนวปะการังอ่าวมาหยาเริ่มได้รับความเสียหายตั้งแต่ที่ภาพยนตร์ดังกล่าวมาถ่ายทำ เพราะสิ่งที่เกิดตามมาคือมีการสร้างสันทรายซึ่งต่อมาถูกชะล้างกลับออกไปสู่ท้องทะเลในช่วงฤดูมรสุม และทำให้มันไปทับถมแนวปะการังจนทำให้ปะการังที่น่าสงสารเหล่านั้นไม่สามารถหายใจได้ ซึ่งต่อมาผลจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยสมอเรือลงในทะเล และการลากเรือขึ้นชายฝั่ง เป็นต้นเหตุหลัก ๆของการทำลายเหล่าปะการังให้ตายลงไป นอกจากนี้ระดับนํ้ารอบ ๆ ชายหาดจะตื้นมากในช่วงนํ้าลงจึงทำให้เรือต่าง ๆ นั้นไปติดอยู่บนแนวปะการัง” มานูเอล อธิบาย

การฟอกขาวของปะการังและสารเจือปนที่เป็นอันตรายจากโลชั่นกันแดดก็มีส่วนทำร้ายปะการังเช่นกัน อุณหภูมินํ้าทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สาหร่ายที่อยู่ในเนื้อเยื่อปะการังถูกขับออกไป ปะการังจึงเกิดการฟอกขาว และขณะเดียวกันบางส่วนจากล้านของสารเคมีอันตรายในครีมกันแดดนั้นไม่สามารถฆ่าปะการังได้โดยตรง แต่มันจะทำให้ปะการังอ่อนแอลงอย่างมากกับการต่อสู้เพื่อการฟื้นฟูตัวจากความเสียหายที่ได้รับจากสาเหตุอื่นเช่น การฟอกขาวของปะการัง และในส่วนของปัญหาความเสียหายของสัตว์ไม่มีกระดูสันหลังผู้เปราะบางแห่งทะเล ที่มีตัวเลขประมาณการว่าถูกทำลายไปแล้วกว่า 50% นั้นจะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร

การทำงานใต้ผิวน้ำ

ผู้นำองค์กร Ocean Quest Global ที่พยายามแก้ไขปัญหาที่อ่าวมาหยา คือ อานัวร์ อับดุลเลาะห์ (Anuar Abdullah) ผู้ก่อตั้งองค์กร ณ ประเทศบ้านเกิดของเขาในมาเลเซียเมื่อปี 2553 โดยอานัวร์และสมาชิกในทีมของเขาใช้เทคนิคที่ได้รับการพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ ประกอบกับการใช้หลักการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง

พวกเขาเชื่อว่า การฟื้นฟูแนวปะการังจะต้องดำเนินไปด้วยวิธีการที่ใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติ และในขณะเดียวกันต้องไม่เป็นการรุกรานธรรมชาติ ดังนั้นพวกเราจึงต่อต้านการใช้ปะการังเทียม หรืออุปกรณ์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถเลียนแบบหรือให้ประโยชน์เหมือนปะการังจริงได้เช่น การกักเก็บคาร์บอนในปะการัง การเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ และการเป็นร่มเงาของสัตว์ใต้ท้องทะเล การฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายไม่ใช่การสร้างแนวปะการังใหม่ขึ้นมาบนพื้นที่ที่พวกมันไม่ได้อยู่อาศัยมาก่อน และนี่คือหลักการสำคัญในโครงการการแพร่ขยายพันธุ์ปะการังในองค์กร

ด้วยแรงบันดาลใจจากการฟื้นฟูป่าดิบชื้น เหล่าบรรดานักดำนํ้าและนักประดานํ้าต่างช่วยกันเก็บชิ้นส่วนที่แตกหักของปะการัง และตัวอ่อนปะการังแล้วนำมาใส่ตะกร้าและเอาขึ้นฝั่งด้วยความระมัดระวัง หลังจากนั้นก็ใช้กาวติดปะการัง และตัวเร่งปฏิกิริยาที่พัฒนาขึ้นโดยอานัวร์ยึดมันให้ติดกับหิน ทันทีที่เอาหินเหล่านั้นไปวางใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลปะการังชั่วคราวนั้น ตัวเร่งปฏิกิริยาจะละลายหายไปภายใน 2 สัปดาห์หรือ

อาจจะน้อยกว่านั้น โดยจะไม่ทิ้งร่องรอยกาวหรือสารพิษใด ๆ ไว้เลย หลังจากนั้นปะการังก็จะเริ่มเจริญเติบโตประมาณ 10 เซนติเมตร ภายในเวลาไม่กี่เดือน ถึงตอนนั้นนักประดานํ้าก็จะย้ายปะการังไปที่แนวปะการัง เพื่อจะให้มันสามารถเติบโตต่อไปได้อีก และกลายเป็นที่อยู่ถาวรของปะการัง วิธีการขยายพันธุ์ปะการัง หรือการปลูกปะการังเป็นวิธีที่ดูจะง่ายและธรรมดา แต่ผลลัพธ์อันน่าทึ่งของวิธีการนี้ก็ได้ปรากฏให้เห็นแล้ว ซึ่งการฟื้นฟูปะการังที่มีประสิทธิภาพในวันนี้เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าและทดลองโดยทีมผู้เชี่ยวชาญตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

การฟื้นฟูปะการังในปัจจุบันขององค์กรOcean Quest Global ที่อ่าวมาหยา ในระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งอันที่จริงแล้วพวกเขาได้ทำการบำบัดฟื้นฟูสภาพพื้นที่แห่งนี้มาตลอดระยะเวลา 3 ปีหลังอยู่แล้ว และแน่นอนว่าในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้ดำเนินโครงการอื่น ๆทั่วทั้งเอเชียตะวันออเฉียงใต้ และมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย

มานูเอล กล่าวอีกว่า “พวกเราสำรวจใต้ท้องทะเลของอ่าวมาหยาทันที่มีการปิดอ่าว และได้เริ่มฟื้นฟูแนวปะการังในเดือนตุลาคม โดยก่อนที่จะทำโครงการที่อ่าวมาหยานั้น เราได้มีโครงการที่ทำในพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อที่จะปรับใช้วิธีการให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่น และได้ทำการฝึกนักประดานํ้าท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้เรามีโครงการที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่บริเวณชายฝั่งเกาะพีพีดอน และพื้นที่บริเวณอีกฝั่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอ่าวมาหยา”

ทริปดำนํ้า 6 วันล่าสุดของกลุ่มนักประดานํ้าเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้ทำการย้ายปะการังที่ปลูกจากเศษปะการังเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาไปยังบริเวณนํ้านิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจได้รับจากคลื่นในฤดูมรสุม

“เราได้ทำการช่วยเหลือพวกเศษซากปะการังที่ถูกคุกคามและได้รับความเสียหายจากพื้นที่ต่าง ๆ ในเกาะพีพี (โดยเฉพาะจุดดำนํ้า) จากนั้นก็ทำการย่อยเศษปะการังเหล่านั้นให้เป็นชิ้นส่วนที่มีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แล้วใช้กาวยึดพวกมันไว้กับหินในธรรมชาติ หลังจากนั้นก็นำไปวางที่จุดอนุบาลปะการังซึ่งอยู่ภายในบริเวณอ่าว ซึ่งเราได้สร้างพื้นที่อนุบาลในลักษณะนี้ขึ้นมา เพื่อลดผลกระทบจากคลื่นลมในช่วงฤดูมรสุม” เขากล่าวเพิ่มเติม

งานขององค์กร Ocean Quest Global ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การขยายพันธุ์ปะการังหรือการปลูกปะการังเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้โครงการของพวกเขาเป็นโครงการฟื้นฟูปะการังที่ใหญ่ที่สุดคือ การที่พวกเขามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพื้นที่ในชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ อย่างต่อเนื่อง องค์กรได้ตระหนักถึงค่าอุปกรณ์ต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการฝึกดำนํ้าลึก พวกเขาจึงใช้วิธีฟรีไดฟ์วิ่งมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของชุมชนเหล่านี้ ซึ่งวิถีชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่ของปะการังใต้ท้องทะเล

ก้าวต่อไป

และแน่นอนว่าเวลา 2 ปีข้างหน้านี้จะผ่านไปไวเหมือนโกหก เฉกเช่นเดียวกับระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Beach เข้าฉายและเกาะพีพีเลก็จะเปิดสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่งและต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับชายหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ รวมถึงกลุ่มคนที่พยายามอย่างหนักเพื่อปกป้องมันเอาไว้

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประกาศแผนการจัดการ ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างจุดจอดเรือที่อ่าวโล๊ะซามะ เพื่อไม่ให้มีการจอดเรือที่หน้าชายหาด การจัดระบบจองทัวร์ที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และลดการคอรัปชั่น ทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสมาชิกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ทางสำหรับเดิน ท่าเทียบเรือสำหรับเรือนักท่องเที่ยวห้องนํ้า และบ้านพักของเจ้าหน้าที่

มานูเอล กล่าวว่า “ขั้นตอนต่อไปคือการติดตามความคืบหน้าของโครงการที่ได้ทำสำเร็จลุล่วงไปแล้ว และเรียนรู้จากมันเพื่อพัฒนาในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกของการทำงาน โดยใช้ขั้นตอนวิธีการฟื้นฟูปะการัง ในบริเวณที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ขนาดนี้ซึ่งเราเองยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้และดำเนินการอยู่อีกมาก ในการที่จะพัฒนาโครงการไปสู่ขั้นตอนต่อ ๆไป ซึ่งโครงการของเราก็เผยผลลัพธ์ออกมาให้เห็นแล้วว่าหลายสิ่งหลายอย่างกำลังดำเนินไปในทางที่ดี ทำให้เรามีความหวังว่าแนวปะการังอ่าวมาหยาจะเจริญเติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี หากทุกอย่างยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ เหมือนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

“องค์กร Ocean Quest ได้มีการดำเนินโครงการในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่มีโครงการใดสามารถเทียบโครงการที่อ่าวมาหยาได้เลย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของอีกหลาย ๆ โครงการต่อไปซึ่งผู้แทนหลายคนจากองค์กรเอกชน (NGO) ในประเทศเมียนมาได้ให้ความสนใจ ที่จะเริ่มต้นโครงการย่อยในลักษณะคล้ายกัน ณ อ่าวแห่งหนึ่งซึ่งมีสภาพปัญหาที่คล้ายคลึงกับอ่าวมาหยาของไทย” เขากล่าวความ

สำคัญของแนวปะการังเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะมองข้าม เพราะปะการังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ทะเลมากกว่า 1 ใน 4 ของสายพันธุ์สัตว์ทะเลทั้งหมด เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ช่วยยับยั้งแรงคลื่นพัดเข้ากระทบชายฝั่ง เป็นสิ่งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นรั้วของธรรมชาติอันลํ้าค่ามากมายใต้ท้องทะเล ในวันนี้พวกเราทุกคนได้เห็นแล้วว่า ต่อจากนี้ไปเราไม่สามารถที่จะละสายตา หรือมองข้ามสิ่งสำคัญแห่งโลกใต้ท้องทะเลเหล่านี้ไปได้อีกแล้ว

แปล : ซาลิมา โต๊ะหมาด

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่