กษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่

ตลอดระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติ และโครงการตามแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ ของพระองค์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร ไม่เพียงแต่จะยังความปลื้มปีติในหมู่พสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แม้แต่องค์การระหว่างประเทศและสถาบันการศึกษาทั่วโลก ต่างก็ตระหนักถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์เช่นกัน

โพสต์ทูเดย์

วันอาทิตย์ ที่ 8 ตุลาคม 2560, เวลา 09:00 น.

การปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ จึงเป็นที่มาของการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศมากถึง ๓๒ รางวัล นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาทั่วโลกยังทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รวมกว่า ๒๑ ปริญญาบัตร

หากนับดูเฉพาะรางวัลที่หน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติเคยทูลเกล้าฯ ถวายนั้น มีถึง ๙ รางวัล ประกอบด้วย
๑. เหรียญฟิแล โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
๒. เหรียญทองเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงอุทิศตนเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ โดยโครงการสภาวะแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นอีพี
๓. เหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า ในฐานะที่ทรงส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพสำหรับประชาชนอย่างเท่าเทียม ภายในปี ๒๕๔๓ องค์การอนามัยโลก
๔. รางวัลเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงมีบทบาทโดดเด่นในความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยโครงการเพื่อการควบคุมยาเสพติดนานาชาติของสหประชาชาติ
๕. เหรียญอากรีโคลา ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและความสุขของประชาชนในประเทศองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ
๖. รางวัลเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงสนับสนุนงานอุตุนิยมวิทยาและการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก
๗. เหรียญเทเลฟู้ด ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาการเกษตรในประเทศ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและสร้างความมั่นคงด้านอาหารเอฟเอโอ
๘. แผ่นจารึกเทิดพระเกียรติขององค์การอนามัยโลก ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยจริยธรรมและความเมตตา ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก

รางวัลล่าสุด ได้แก่ รางวัลเทิดพระเกียรติของยูเอ็น-ฮาบิแทต ในฐานะที่ทรงมีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในเมืองและชนบทของประเทศ ศูนย์ว่าด้วยเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ และเป็นรางวัลชิ้นแรกของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่จัดทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าวด้วยตนเอง เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้ทรงทุ่มเทให้แก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของปวงชนชาวไทย สมกับพระราชดำรัสต่อประชาชนชาวไทยว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในวันแรกที่เสด็จขึ้นทรงครองสิริราชสมบัติ
ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปี ที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงงานด้านการพัฒนาชนบทเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ทั่วประเทศ

สำหรับพระองค์ท่านแล้ว พสกนิกรคือลำดับความสำคัญแรก พระองค์เสด็จฯ ไปในถิ่นทุรกันดารห่างไกลทุกหนแห่ง เพื่อทรงเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขของราษฎร จนได้รับการกล่าวขานว่า พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ได้ประทับรอยพระบาทไปทั่วแผ่นดินไทยมากกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ผ่านมา

โครงการในพระราชดำริที่มุ่งเน้นการเกษตรขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมและภัยแล้ง ได้ยังประโยชน์นานัปการต่อประชาชนนับล้านในชนบทโดยมิได้มีการแบ่งแยกสถานะ เชื้อชาติ และศาสนา

นอกจากนั้น ความสำเร็จของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงในภาคเหนือ ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าแหล่งปลูกฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดให้กลายเป็นแปลงปลูกพืชเมืองหนาวทดแทน ได้ยังประโยชน์มหาศาลต่อชนเผ่าต่างๆ ในเทือกเขาสูงตามแนวชายแดนไทย พม่า ลาว ในการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษา

ในด้านการพัฒนาสังคม พระองค์ทรงก่อตั้งมูลนิธิต่างๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนงานด้านสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก มีการรณรงค์กำจัดโรคโปลิโอ ลดภาวะการขาดไอโอดีน ลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อน รวมทั้งการเสริมสร้างโอกาสสู่ช่องทางการศึกษาในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ตลอดจนการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้า

นอกจากนี้ ด้วยพระปรีชาในการเป็นนักคิดของพระองค์ ยังทรงได้ริเริ่มแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ชี้ถึงแนวทางการพัฒนาที่เน้นความสมดุล องค์รวม และยั่งยืน โดยเน้นหลักการความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอที่จะต้านทานและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยใช้ความรู้อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และมีสำนึกในคุณธรรม

แนวทางปฏิบัตินี้ได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้จ่ายและบริโภคที่พอเหมาะพอควร และการกระจายความเสี่ยงในการผลิตให้มีความหลากหลาย ปรัชญาการพัฒนาดังกล่าวเป็นหลักคิดและปฏิบัติที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับปัจเจกบุคคล ชุมชน แม้กระทั่งองค์กรธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในภาครัฐ และที่สำคัญได้สร้างกระแสความสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวงการนักพัฒนาระดับโลก และมีส่วนช่วยยกระดับกระบวนทัศน์การพัฒนาคนอย่างยั่งยืน

แม้ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" อาจดูขัดแย้งกับวิถีความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน ที่ถูกครอบครองด้วยระบอบทุนนิยมและวัตถุนิยม แต่แนวพระราชดำริของพระองค์ก็ได้แสดงให้โลกประจักษ์แล้วว่าหลักคิดดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืนและสมดุล จนแม้กระทั่งองค์การระดับโลกยังยกย่องว่า เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่จะต้านทานและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากกระแสโลกาภิวัตน์ และยกย่องให้พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาอย่างแท้จริง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่